การค้นหางานที่ชอบ

เมื่อเดือนก่อนนู้นที่บริษัทประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานมาช่วยเขียนบทความ ระหว่างสัมภาษณ์น้องๆ เตยได้พบสิ่งนึงที่น้องๆ พูดเหมือนกันคือ “ไม่รู้ว่าชอบงานแบบไหน” “อยากมาลองทำดูว่าจะชอบงานแบบนี้ไหม” ทำให้นึกถึงตัวเองขึ้นมาว่า เตยเคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน ในฐานะคนที่เคยผ่านความสับสน เคยท้อ เคยอิจฉาคนที่รู้ว่าอยากจะทำอาชีพอะไรมาก่อน ถึงแม้ว่าเตยยังต้องค้นหาสิ่งที่ชอบต่อไป แต่เตยคิดว่าเตยผ่านอะไรมาเยอะพอที่จะแนะนำน้องๆ หรือเพื่อนๆ ที่กำลังสับสนในตัวเองอยู่ได้ วันนี้เตยลองยกมา 6 อย่างที่เตยคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เตยค้นหางานที่ชอบได้ค่ะ

  1. ลงมือทำ ข้อนี้สำคัญมากที่สุด หลายๆ ครั้งเรามองดูคนอื่นทำงานนี้แล้วก็คิดว่า เป็นงานที่ดีเหมาะกับเรา เราต้องชอบแน่ๆ แต่พอเราลงมือทำแล้วเราถึงรู้ว่า เราไม่ได้ชอบทั้งหมดของงาน เตยเคยได้คุยกับน้องคนนึงที่ทำงานเป็นเภสัชกร ในภาพที่ทุกคนเห็นเภสัชกรมีหน้าที่แค่จ่ายยาเท่านั้น แต่น้องคนนี้เล่าให้เตยฟังว่างานเภสัชกรยังมีเรื่องของการให้คำปรึกษาคนไข้ ดูแลสต็อก ฯลฯ ที่ลึกเข้าไปอีก หรืองานออกแบบที่คนมักคิดว่าเป็นการใช้ Photoshop มาทำรูปส่งให้ลูกค้าแต่จริงๆ แล้วงานออกแบบมีความลึกไปกว่านั้นอีก ต้องออกแบบงานให้ตอบโจทย์ลูกค้า แก้ปัญหาให้ลูกค้า เตรียมงานให้สามารถผลิตได้อย่างถูกต้อง ฯลฯ งานทุกงานมักจะเป็นแบบนี้ด้วยเหมือนกัน
  2. ออกไปเจอและพูดคุยกับคนอื่นๆ บ้าง ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะมีโอกาสทดลองงานนั้นๆ วิธีการที่เตยเคยใช้ก็คือ ตามหาคนที่มีอาชีพนั้นๆ แล้วคุยกับเขา ถามเค้าให้ละเอียดว่างานนี้ทำอะไรบ้าง สนุกตรงไหน ไม่สนุกตรงไหนบ้าง คล้ายๆ เป็นการ window shopping งานไปก่อน ถ้าเป็นงานที่ทดลองทำได้เลยอย่างงานออกแบบก็ลองรับงานเล็กๆ ก่อนอย่างเช่น รับออกแบบโลโก้ให้เพื่อนที่ทำของขาย เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จริงๆ
  3. เลือกทำสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น เรามักถูกพ่อแม่ ครู เพื่อนที่เป็นห่วงเราบอกให้ทำอย่างนั้น อย่างนู้น เพราะมันดีในสายตาของเขา วิธีการที่เตยใช้คือลองทำก่อน ถ้าชอบก็ทำเพิ่ม ถ้าไม่ชอบก็เลิกทำ พอเราเลือกทำสิ่งที่เราชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพของอาชีพที่เราชอบจะเริ่มปรากฎมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่คำว่า “ชอบ” หรือ “มีความสุข” เป็นคำที่จับต้องไม่ค่อยได้ หรือบางทีอาจมีบางส่วนของงานที่เราไม่ถนัดเราก็เลยคิดไปเองว่าเราไม่ชอบ เตยเลยเปลี่ยนเป็นคำว่า “มีชีวิตชีวา” คือทำแล้วถึงจะเหนื่อยแต่ก็ยังรู้สึกว่า ฉันได้ใช้ชีวิตจริงๆ ไม่ได้ทำไปวันๆ พอคิดแบบนี้แล้วก็ง่ายขึ้นที่จะกรองสิ่งที่ไม่ชอบออกไป
  4. อย่าเลือกอาชีพ แต่ให้สร้างอาชีพขึ้นมาแทน หลายๆ อาชีพถูกสร้างเพิ่มขึ้นมาให้เหมาะกับลักษณะงานตอนนั้น เมื่อก่อนใครจะรู้ว่างานตำแหน่ง web designer, UX designer, blogger และรู้กันไหมว่ามีคนทำงานอาชีพ นักสืบหาสัตว์เลี้ยงที่หายไป, Lego artist, นักเขียนจดหมายถึงซานต้าครอส, นักจัดระเบียบบ้าน, ทำแว่นสำหรับหมา ฯลฯ ถ้าอาชีพพวกนี้แหวกแนวไป เตยขอแนะนำอาชีพ นักวาดภาพสัตว์เลี้ยง (ชอบวาดภาพ และชอบสัตว์ เลยสร้างธุรกิจรับวาดหมา แมวให้เจ้าของเอาไปตกแต่งบ้าน) หรือจะเป็นนักเขียนที่เขียนเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว (ชอบเขียนบันทึกและชอบเที่ยวเลยเอามารวมกัน) ฉะนั้นอย่ามัวแต่เลือกงานที่เห็นคนอื่นทำเยอะๆ แต่จงรู้จักหาช่องทางสร้างอาชีพของตัวเองขึ้นมา
  5. ให้เวลากับตัวเองบ้าง ทุกวันนี้มีสื่อที่คอยดึงความสนใจของเราไปได้ตลอดเลย จนเราลืมใช้เวลาส่วนตัวอยู่กับตัวเราเอง ทำให้ไม่ได้คิดทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต แต่การค้นหาสิ่งที่ชอบเป็นเรื่องที่เรารู้แค่คนเดียวเท่านั้น เราต้องถามตัวเอง คุยกับตัวเอง เราถึงจะรู้จักตัวเองค่ะ
  6. จำไว้ว่า เราไม่จำเป็นต้องมีอาชีพแค่อาชีพเดียว เราไม่จำเป็นต้องทำอาชีพนี้ไปตลอดชีวิต ข้อนี้เป็นอีกข้อที่ทำให้เตยสบายใจและสนุกมากขึ้นในการค้นหางานที่ชอบ การที่เราคิดว่าฉันจะต้องทำอาชีพนี้ไปตลอดชีวิต เป็นการสร้างความเครียดให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว เราจะเริ่มคิดว่า ถ้าฉันเปลี่ยนอาชีพแปลว่าฉันล้มเหลว แต่ชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอด การให้ความสำคัญในชีวิตเราก็ต่างออกไปด้วยเช่นกัน วันนี้งานและเงินสำคัญที่สุดแต่ต่อไปครอบครัวอาจจะสำคัญกว่าก็ได้ อาชีพเราก็จะเปลี่ยนไปเอง แล้วเราจะไปยึดติดว่าฉันจะต้องทำอาชีพนี้ไปจนตายทำไม พอเราเลิกคิดแบบนั้นความเครียดจะหายไป เราจะมองเห็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตชีวาได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะแนะนำอะไรเราก็ตาม แต่เราไม่ลงมือทำ ไม่นำไปปรับใช้ ก็คงยากที่จะได้ผลอย่างที่หวังนะคะ

Updated August 10, 2015