1 ปีกับการรักษาโรคซึมเศร้า

ในขณะที่หลายๆ คนเขียนสรุปประจำปีกัน แต่ปกติแล้วเตยจะสรุปในวันเกิดเตยอยู่แล้ว วันนี้เตยขอเล่าเรื่องการรักษาโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลที่ผ่านมาครบหนึ่งปีพอดีแทน จริงๆ แล้วเคยทำ vdo ไว้แต่ยังไม่ได้ตัดต่อเลยขอเปลี่ยนมาเป็นการเขียนแทน โดยเตยจะเขียนเป็นแนวถามตอบโดยเอาคำถามมาจากคำถามที่เตยเจอบ่อยๆ นะคะ เตยขอออกตวก่อนว่าเตยไม่ได้มีความรู้อะไรมากดังนั้นเตยจะเล่าจากประสบการณ์ที่เตยพบเจอเป็นหลักนะคะ

โรคซึมเศร้าและวิตกกังวลคืออะไร เคยได้ยินแต่โรคซึมเศร้า

จากเท่าที่คุณหมออธิบายให้ฟังก็คือมีอาการของโรคซึมเศร้านิดนึงผสมกับโรควิตกกังวลอีกนิดหน่อยค่ะ

แล้วอาการเป็นยังไง

ตอนที่เตยเริ่มพบจิตแพทย์เตยมีอาการนอนไม่หลับ จากที่เป็นคนชอบคิดชอบทำและค่อนข้างแอคทีฟก็กลายเป็นอยากจะอยู่แต่บนเตียง อยากนอนทั้งวัน อยากหลับแล้วไม่ต้องตื่นมาอีกเลย คิดเรื่องความตาย แต่ไม่อยากฆ่าตัวตายนะเพราะกลัวทำแล้วไม่ตายมากกว่า กินข้าวไม่ลง กินแล้วจะอยากอ้วก ข้าวสองสามช้อนก็ไม่อยากกิน เวลาเจอเรื่องเครียดก็จะมีอาการใจสั่น รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นแรงจนจะทะลุออกมาข้างนอก หายใจไม่เต็มปอด มักลืมหายใจ ปวดหัว ที่สำคัญที่สุดและเป็นอาการที่ทำให้ตัดสินใจไปพบจิตแพทย์คือไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้ ร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ อยู่ๆ ก็ร้องขึ้นมาเฉยๆ หรือมีเรื่องกระทบใจนิดเดียวเป็นเรื่องเล็กๆ ก็จะร้องไห้เลย

สาเหตุเกิดจากอะไร

คุณหมออธิบายเตยแบบง่ายๆ ว่าใจเราเหมือนกับแม่น้ำ แล้วความเครียดหรือสิ่งที่กวนใจเราก็เหมือนขยะ พอมีขยะมากๆ แต่ไม่ได้รับการดูแลก็จะทำให้ขยะไปกองรวมกันอยู่จนน้ำไหลผ่านไม่ได้ น้ำที่มีก็สกปรกตามไปด้วยนั่นแหล่ะ ทีนี้ในสมองของคนเราจะมีเซลล์ประสาทอยู่ แล้วแต่ละเซลล์ก็จะมีสารที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละอัน ถ้าเราเครียดมากๆ เซลล์ประสาทก็ค่อยๆ ลดการส่งสารชนิดนี้ออกไปทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อเซลล์ประสาทกันได้ ร่างกายไม่สมดุลไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติก็จะเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้าเข้ามา

แล้วรักษายังไง

จากเท่าที่คุยกับเพื่อนๆ ที่พบจิตแพทย์เหมือนกันทำให้รู้ว่าการรักษาของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แม้จะมีอาการคล้ายกัน ดังนั้นเตยแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ก่อนดีกว่านะคะ ในส่วนของเตยคุณหมอให้เตยทานยาควบคู่ไปทำการทำจิตบำบัด (สะกดจิต) คุณหมอบอกว่ามีปัจจัยอยู่ประมาณ 3 อย่างที่จะช่วยให้เราดีขึ้นได้คือการดูแลตัวเองของเรา, ครอบครัว และยา การให้ยาช่วงแรกคุณหมอจะนัดเจอเราทุกๆ สองอาทิตย์เพื่อดูว่าเรามีผลข้างเคียงกับยาไหม เราได้ผลการรักษาที่ดีขึ้นไหม หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยายขึ้นเป็น 3-4 อาทิตย์และค่อยๆ ลดยาลงเมื่อเราอาการดีขึ้น แต่ถ้าเรารู้สึกว่าเรายังไม่ดีขึ้นนะเราก็สามารถนัดคุณหมอเพิ่มได้ บอกไปเลยว่าเรารู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกไม่ดีขึ้น

กินยาเยอะๆ ติดกันนานๆ จะดีหรอ

ส่วนตัวเตยคิดว่าการกินยาก็เหมือนการรับสารเคมีเข้าร่างกาย แต่ว่าถ้าเราไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้ป่วยหนักไปอีกก็จะยิ่งแย่กว่า อย่างเช่นถ้าเตยนอนไม่หลับและไม่กินยาที่ช่วยผ่อนคลายก็จะทำให้เตยพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สมดุลอาจทำให้มีอาการซึมเศร้ามากกว่าเดิมก็ได้

จิตบำบัดคืออะไร

จิตบำบัดมีหลายแบบแล้วแต่ว่าโรงพยาบาลที่เราไปรักษามีการบำบัดแบบไหนให้เราเลือก โรงพยาบาลที่เตยเข้ารักษามีจิตบำบัดแบบสะกดจิต คือจะมีเก้าอี้นวมนั่งสบายๆ ให้เรานั่งแล้วจะมีการคุยกันก่อนว่าเราเป็นอะไรมาและคาดหวังอะไร เราจะถูกทำให้รู้สึกง่วงก่อนที่จะเริ่มสะกดจิต ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ เตยต้องกึ่งหลับกึ่งตื่น เตยทำ 3 ครั้งได้ผลครั้งเดียว นอกนั้นไม่ยอมหลับสักที ทำให้ไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก แต่ถ้าถามว่ารู้สึกสบายตัวมากขึ้นไหม เตยก็ตอบเลยว่า รู้สึกสบายตัวและผ่อนคลายมากๆ

นานไหมกว่าจะดีขึ้น

คุณหมอบอกเตยตั้งแต่วันแรกที่ไปเลยว่าการรักษาจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 2 ปี อย่างยาที่เตยได้รับก็มักจะออกฤทธิ์แบบเห็นผลจริงๆ ก็ใช้เวลาปาไปสองอาทิตย์แล้ว ปัจจุบันเตยรักษามา 1 ปีแล้ว คุณหมอบอกว่าไม่ต้องมาหาหมอแล้วก็ได้ แต่เตยรู้ว่าช่วงนี้จะเครียดเลยบอกว่าขอเจอหมออีกสักรอบก่อนดีกว่า สิ่งที่คงไว้ได้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปหาหมอแล้วก็คือยานอนหลับ เพราะเตยมีปัญหาเรื่องนี้มากจริงๆ

รักษาที่ไหน

เตยรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่มีหลายสาขาแห่งนึง แต่ก่อนหน้านี้เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนอีกที่มาแต่ไม่ค่อยถูกใจหมอเพราะว่ารู้สึกว่าหมอไม่ใส่ใจเรา เอาแต่ใช้มือถือก็เลยไม่ไปพบแพทย์ต่อ แต่ว่าพอไปอีกที่นึงแทน รู้สึกว่าคุณหมอพูดดี รู้ว่าควรพูดกับเราแบบไหน รู้สึกว่าคุณหมอใส่ใจเราด้วย เตยคิดว่าแต่ละคนมีสไตล์ที่แตกต่างกับออกไปดังนั้นเราควรเลือกคนที่เรารู้สึกคุยด้วยแล้วสบายใจ กล้าที่จะเปิดเผยความรู้สึกดีกว่า

จะรู้ได้ยังไงว่าเราควรไปพบจิตแพทย์รึเปล่า

จริงๆ แล้วคุณหมอบอกว่า ถ้ารู้สึกเครียดหรือเริ่มมีปัญหาการนอนก็มาหาคุณหมอได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นหนักๆ แล้วค่อยไปหา แต่ไปพบแพทย์ก็มีค่าใช้จ่ายเนอะ ส่วนตัวเตยคิดว่าถ้าเริ่มคิดว่าไม่อยากอยู่ อยากนอนไปเลย อยากหายไปเฉยๆ แล้วก็มีปัญหาการนอนหรือทานอาหารไม่ลง ยิ่งถ้าเป็นมาเป็นอาทิตย์แล้วก็ควรไปพบแพทย์ค่ะ การกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นสัญญาณจากร่างกายเราแล้วว่ามีบางอย่างผิดปกติ เราอาจจะเครียด

ทำยังให้หายเร็วๆ

สิ่งนึงที่เตยเรียนรู้จากเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาก็คือ ร่างกายกำลังบอกเราว่าเราต้องหันกลับมาดูแลตัวเองให้ดีๆ และทุกๆ ครั้งที่เตยละเลยร่างกายและจิตใจของตัวเองไปอาการต่างๆ ก็จะกลับมาด้วยเหมือนกัน เตยมองว่าเราไม่ควรเร่งให้หายไวๆ แต่ควรถือโอกาสนี้หาวิธีดูแลตัวเองในระยะยาว มันไม่ใช่แค่เรื่องการกินยาให้ครบแล้วเราจะหายดี แต่ว่ามันเป็นเรื่องของการทำยังไงให้เรามีความสุขกับชีวิต ซึ่งเตยพบว่าการอยู่กับปัจจุบันถือเป็นหลักสำคัญที่ทำให้เตยมองโลกต่างออกไปจากเดิม ถึงจะไม่ได้เป็นคนที่แฮปปี้ได้ตลอดเวลาแต่ก็ได้เริ่มเรียนรู้ที่จะเลือกรับและมองหาแต่สิ่งที่ดีๆ และตัดสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุขออกไป เลิกกดดันตัวเอง พยายามจับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ว่าเรารู้สึกยังไงกับแต่ละสิ่ง มันไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก แต่ถ้าเรามองให้มันสนุก มันก็จะสนุก ปีที่ผ่านมาเตยตัดสิ่งแย่ๆ ออกจากชีวิตไปเยอะมาก ถือว่าเป็นการรีโนเวทชีวิต

มีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่รู้จะทำยังไงดี

คอยอยู่ใกล้ๆ รับฟัง (อันนี้สำคัญมากที่จะทำให้ถูกต้อง ต้องเป็นการฟังที่ไม่มีการตัดสินอะไรทั้งนั้น) คอยฟังว่าเขาอยากได้อะไร ใจเย็นและอดทน เชื่อว่าเขาจะหายได้แต่ต้องไม่กดดัน กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เตยโชคดีที่มีคนใกล้ตัวเข้าใจก็เลยผ่านมันมาได้เร็วขึ้นง่ายขึ้น จริงๆ บางทีเตยต้องการแค่คนอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้อยากจะพูดคุยอะไร สำหรับเตยแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

Updated January 19, 2019